หลังจากที่ก่อนหน้านี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้ส่งรายชื่อนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมชาวต่างชาติ ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำการขึ้นทะเบียนและฝึกซ้อมกับสโมสรในไทยลีก 1-3 ไปยังการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ล่าสุดสมาคมฯ ได้มีการประชุมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับคู่มือการจัดการแข่งขันฟุตบอล
โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ขั้นตอนการนำนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ต่างชาติเข้าประเทศไทย
2.ให้สมาคมฯ เตรียมเสนอแนวทางแข่งขันแบบเปิดอย่างมีเงื่อนไขเพื่อพิจารณาอนุญาตให้แฟนบอลเข้า และ
3. กรณีการตรวจเชื้อนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมก่อนกลับมาแข่งขันแบบกลุ่ม 10 คน (Pool testing)
ทั้งนี้ จะต้องมีการประกาศคู่มือจัดการแข่งขันจากทางภาครัฐเสียก่อน จึงจะสามารถกลับมาแข่งขันได้
เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผู้แทนสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด โดยนายวรงค์ ทิวทัศน์ เลขานุการฝ่ายจัดการแข่งขัน และนายไพฤทธิ์ ต้านไพรี หัวหน้าฝ่ายควบคุมการแข่งขัน พร้อมด้วยผู้แทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการฯ เพื่อเข้ารับฟังแนวทางในการดำเนินการนำนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมชาวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย เมื่อมีการเปิดน่านฟ้า ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และให้สมาคมฯ เตรียมเสนอแนวทางแข่งขันแบบเปิดอย่างมีเงื่อนไขเพื่อพิจารณาอนุญาตให้แฟนบอลเข้าสมาคมฯ ในระยะปลดล็อคครั้งต่อไป แต่ต้องมีมาตรการทางสาธารณสุขควบคู่ด้วย
โดยทางคณะกรรมการฯ ได้ชี้แจงว่าสำหรับในส่วนของนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนต่างชาติ จะเข้าข่ายเป็น “แรงงานฝีมือ” ที่สามารถยื่นขออนุญาตหน่วยงานราชการเข้ามายังประเทศได้ โดยได้แนะนำให้ทางสมาคมฯ และกกท. ส่งรายชื่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอหนังสือรับรองเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry – COE) ซึ่งสโมสรสามารถนำไปเป็นเอกสารประกอบในการติดต่อสถานทูตไทยประจำประเทศต่างๆ รวมทั้งใช้สำหรับการจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน หรือโรงแรมที่ผ่านการตรวจประเมิน Alternative State Quarantine (ASQ) โดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกักตัวในสถานที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 14 วัน และทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางเข้าถึงประเทศไทย ทั้งนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะทำการประกาศหลักการรับคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มีการมอบหมายประเด็นสำคัญกับสมาคมฯ ได้แก่ การจัดเตรียมแนวทางการจัดแข่งขันเพื่อรองรับกรณีเมื่อภาครัฐปลดล็อคและอนุญาตให้แฟนบอลสามารถเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ โดยจะต้องมีมาตรการทางสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย อีกทั้งยังระบุด้วยว่าสมาคมฯ ควรจัดเตรียมมาตรการในการตรวจเชื้อโควิด-19 นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมก่อนที่จะกลับมาแข่งขันในเดือนกันยายน โดยอาจจัดทำ 1 เดือนก่อนการแข่งขันคือช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนสามารถรองรับการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบกลุ่ม หรือ Pool testing ที่สามารถตรวจพร้อมกันทีเดียว 10 คนในชุดตรวจเดียวได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการตรวจเชื้อของสโมสรอีกด้วย