ฮิมต๋าย ฮิมยัง

ฮิมต๋ายฮิมยัง :  เหนือกว่า VAR คือ ?

หน้าแล้ง หน้าร้อน สิ่งที่มักตามมาคือ ปัญหาภัยแล้ง ไม่ว่าปีก่อนนั้นจะฝนน้อย ฝนมาก น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ถัดมาหน้าแล้ง น้ำก็ขาดก็หายเหมือนเช่นเดิม

ทุกเช้าจะได้ยินรายงานเรื่องจุดความร้อนที่ไม่เคยต่ำกว่าหลักหลายร้อยหลายพันจุด ทั้งบ้านเราและเพื่อนบ้านใกล้เคียง จุดเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของฝุ่นพิษที่ครอบคลุมอยู่ในตอนนี้

ทั้งร้อน ทั้งฝุ่น การอยู่นอกบ้าน อยู่กลางแจ้งจึงเป็นภัยอย่างนึงของมวลมนุษย์

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ทีมชาติ ที่เรียกกันติดปากว่า “ฟีฟ่าเดย์” ฟุตบอลลีกในประเทศทั่วฌลก ก็จะหลีกทางให้กับทีมชาติกันทุกประเทศ

ย้อนกลับไปสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟุตบอลลีกบ้านเรา ยังคงมีเรื่องราวให้ติดตาม โดยเฉพาะประเด็นของการตัดสิน ในจังหวะที่ควรเป็นจุดโทษหรือไม่

เกมล่าสุดที่มีปัญหาก็คือเกมที่ผู้ตัดสิน ไม่ให้จุดโทษแก่ โปลิศ เทโร เอฟซี ในเกมที่เสมอกับ ลำปาง เอฟซี 1 – 1

จังหวะนั้น ผู้ตัดสิน ได้เป่าให้เป็นลูกจุดโทษ หลังจากที่ วู กึน-ยอง กองหน้า โปลิศ เทโร เอฟซี ยิงบอลไปติดบล็อกและโดนแขน จักรกฤษ สงมา กองหลัง ลำปาง เอฟซี

แต่หลังจากที่ VAR ได้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความเห็นแตกต่างจากผู้ตัดสินในสนามว่า บอลไปสัมผัสแขนซ้ายของผู้เล่น ลำปาง เอฟซี ที่ลื่นล้มลงและใช้แขนพยุงร่างกาย ที่เรียกว่า Arm Supporting Body ไว้ก่อนแล้วที่บอลจะมาสัมผัส ซึ่งพิจารณาว่าการใช้แขนพยุงร่างกายขณะที่บอลมาสัมผัส เป็นข้อยกเว้นของกติกาแฮนด์บอล

พร้อมส่งสัญญาณไปที่ผู้ตัดสินให้ทำการตรวจสอบด้วยตนเองที่จอข้างสนาม และหลังผู้ตัดสินวิ่งไปดูจอ VAR ข้างสนามแล้วก็เปลี่ยนคำตัดสิน โดยมีความเห็นสอดคล้องว่า ผู้เล่น ลำปาง เอฟซี ได้ใช้แขนซ้ายพยุงร่างกาย ขณะที่ลื่นล้มลง ก่อนที่บอลจะมาสัมผัสจากลูกยิงของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม จึงพิจารณาว่าเป็นข้อยกเว้นของกติกา หรือ ไม่มีการทำผิดกติกาเกิดขึ้น

นำมาซึ่งการยกเลิกจุดโทษ และ ใบเหลืองของผู้เล่น ลำปาง เอฟซี และเกมดำเนินต่อไปจนจบการแข่งขัน และที่สำคัญ ทาง โปลิศ เทโร เอฟซี ไม่ได้มีการยื่นประท้วงการทำหน้าที่ในจังหวะนี้

แต่เมื่อเป็นประเด็น ทางฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน เลยมีการตรวจสอบจังหวะการใช้ดุลยพินิจดังกล่าว

ผลการตรวจสอบได้ข้อสรุปมาว่า จังหวะที่ผู้ตัดสินเป่าให้เป็นจุดโทษ และให้ใบเหลืองนั้น เป็นการตัดสินที่ถูกต้องแล้ว เพราะ

ถึงแม้ว่าผู้เล่นได้ใช้แขนพยุงร่างกาย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในกติกาแฮนด์บอลก็ตาม แต่ข้อยกเว้นดังกล่าว จะถูกนำมาใช้พิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่ผู้เล่นพยายามแย่งชิงลูกบอล (Challenge for the Ball) และบอลมาสัมผัสแขนที่ใช้พยุงร่างกาย ผู้เล่นจะไม่ถูกลงโทษว่าทำผิดกติกาการแข่งขัน

แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เล่น ลำปาง เอฟซี ไม่ได้อยู่ในระยะที่สามารถแย่งชิงลูกบอลได้ จึงเป็นการพยายามป้องกัน (Block) บอลที่ถูกยิงเข้ากรอบมากกว่า ซึ่งในลักษณะนี้จะต้องถูกพิจารณาว่าเป็นการทำร่างกายให้สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกติกา (Taking a Risk) ดังนั้น จึงควรพิจารณาเป็นการทำผิดกติกาดังกล่าว

อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า ดุลยพินิจที่ใช้ในการพิจารณาของฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน ที่ซ้อนกับดุลยพินิจในสนาม ในบางครั้งมีความไม่มั่นคง บนหลักการพิจารณากฎ กติกา เดียวกัน

หากย้อนไปในเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านี้ ลักษณะที่ถูกมองว่ามีการทำแฮนด์บอล มีการพิจารณาบนพื้นฐานกฎเดียวกัน แต่ใช้องค์ประกอบต่างกัน โดยมากจะเห็นเช่นเดียวกับผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ตัดสิน ทั้งที่หากนำไปเปรียบเทียบกับกรณีคล้ายกัน แต่ดุลยพินิจต่างกันสิ้นเชิง

นัดล่าสุดนี้ ทำให้ โปลิศ เทโร เอฟซี เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ผิดพลาด ทั้งผู้ตัดสิน และผู้ตัดสิน VAR

สิ่งที่ทำได้หลังจากพบว่าผิดพลาดคือการลงโทษผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ผิดพลาด คือการพักงาน ไม่ให้ทำหน้าที่ แต่อย่างที่เรียนไปแล้วว่า นัดนี้ไม่มีการร้องเรียนหรือประท้วงการทำหน้าที่มาจากสโมสร

แต่เป็นการที่ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน เป็นผู้ตรวจสอบเอง จึงจะเป็นการลงโทษภายในของฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินเอง ถ้าให้เดาก็คงอยู่ที่ 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง

เบาหวิว เลยครับสำหรับบทลงโทษ แต่ไหน ๆ ตามกติกาก็ให้ผลการแข่งขัน ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว ก็ตามนั้นแหล่ะครับ

เพียงแต่สิ่งที่อยากให้ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินทำต่อไปคือ การนำบทเรียนการใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องและผิดพลาดเหล่านี้ ไปเป็นตัวอย่างการตัดสิน หากเทียบกับเรื่องคดีความ ถือเป็น “ฎีกา” ที่มีการตัดสินไว้แล้ว หากในภายหน้า มีการกระทำผิดลักษณะเช่นนี้ ต้องใช้องค์ประกอบเดียวกันเป็นพื้นฐานเพื่อใช้ดุลยพินิจ

และนำเหตุการณ์ที่ใกล้เคียง มาทำการพิจารณาตัดสิน แล้วนำไปใช้เป็นข้อสอบให้กับผู้ตัดสินเพื่อใช้ดุลยพินิจ ว่าถูกต้องหรือไม่

ที่สำคัญคือข้อสอบแบบนี้คือต้องใช้ดุลยพินิจถูกต้องทุกกรณี ไม่ควรมีเกณฑ์ผ่าน 80 – 90% เพราะความผิดพลาด 10 – 20% นี้จะส่งผลกระทบอย่างที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ หากว่าใช้ดุลยพินิจผิด จนทำให้บางทีมตกชั้นแบบไม่น่าตก

ไหน ๆ ก็มาทางนี้แล้ว เพิ่งได้เห็นข่าวคราวมาจากทางบุนเดสลีก้า ลีกฟุตบอลของเยอรมัน ที่มีความนิยมถือเป็น 1 ใน 5 ลีกใหญ่ของโลก

ในบุนเดสลีก้า มีการใช้ทีมงานผู้ตัดสิน VAR เฉพาะ คือจะไม่ใช้ ผู้ตัดสิน มาทำงานเวียนในห้อง VAR เหมือนหลายลีกของโลก

ข้อดีของการทำแบบนี้ คือการที่เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องทำการตรวจสอบ ก็จะได้ผลของการใช้ดุลยพินิจที่เหมือนกัน ในเหตุการณ์ที่เกิดเหมือนกัน ไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หรือประสบการณ์ของผู้ตัดสินที่อาจไม่เพียงพอ

ผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในห้อง VAR แน่นอนว่าจะได้รับการอบรมและทดสอบในเรื่องการมองภาพเหตุการณ์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อช่วยในการตัดสินใจ

อย่างที่เราเคยเห็นข่าวคราวในบางครั้ง ผู้ตัดสิน VAR ของไทยบางคน ไม่สามารถตีเส้นแสดงให้เห็นว่ามีการล้ำหน้าหรือไม่ในเวลาแข่งขันได้ทัน เพราะยังไม่คุ้นเคยกับระบบ ทำให้เกิดความครางแคลงใจ ว่าตัดสินได้ถูกต้องหรือไม่

รวมถึงหากมีความคุ้นเคยอยู่แล้วจะทำให้เกิดความชำนาญ ลดเวลาในการตรวจสอบ VAR ลงได้อีกด้วย เพราะการเช็ค VAR บ่อย ๆ แถมใช้เวลานาน ทำให้เกมไม่ต่อเนื่อง พาลให้เราเบื่อหน่ายกับเกมการแข่งขันไปด้วย

VAR เขามีไว้เพื่อลดความผิดพลาด หากมีแล้วใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์จริง ๆ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการที่จะต้องจ่ายเพิ่มในแต่ละนัด

แต่มีแล้วใช้ไม่เกิดประโยชน์ ความผิดพลาดไม่ได้ลดลง ก็คงต้องทบทวนครับว่า คุ้มไหม? และถ้าผู้ตัดสินบางท่านที่ใช้ดุลยพินิจผิดพลาดบ่อย ๆ ยังคุ้มไหมที่จะให้เป่าบนลีกสูงสุด?

เครดิต FB FAIR / ช้างศึก

by TTDad

Warut