ฮิมต๋าย ฮิมยัง

ฮิมต๋ายฮิมยัง :  VAR มาได้แล้ว

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 แน่นอนว่าอีกกี่วันก็จะเข้าสู่ปี 2566 ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นการเฉลิมฉลอง เห็นการเดินทาง

ช่วงที่ผ่านมา ฟุตบอลโลก เป็นมหกรรมที่หยุดฟุตบอลลีกของแต่ละชาติเอาไว้ หลังจบนัดชิง หลายลีกก็กลับมาเตะกันตามปกติ จะเว้นก็ลีกที่มีโปรแกรมหยุดหนีหนาว ที่กว่าจะกลับมาก็เป็นช่วงหิมะซาลงแล้ว

ส่วนภูมิภาคอาเซียน ที่ไม่มีชาติไหนที่ไปเข้าร่วมโม่แข้งกับทีมอื่น ๆ ที่กาตาร์ ก็มีโอกาสได้หยุดพักเพื่อเตรียมทีมในการลงแข่งขันชิงแชมป์อาเซียน

ตอนที่พิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้ แต่ละทีมก็ลงเล่นกันไป 3 นัดแล้ว ทำให้พอมองเห็นลาง ๆ ว่า รอบตัดเชือกจะมีใครที่อยู่ในข่ายได้ผ่านไปเพื่อคว้าถ้วยประจำภูมิภาคไปครอง

ผลการแข่งขันที่ยังคงมีประเด็นให้ได้พูดถึงกันก็คือการแข่งขันระหว่าง เวียดนาม และ มาเลเซีย โดยเฉพาะช็อตที่เสียงแตกกันอย่างมากกับจังหวะใบแดงพ่วงจุดโทษ ที่ว่ามาแจกใบแดงแล้วให้จุดโทษได้ยังไง

ดูแว๊บแรกผมเองก็ยังสับสนว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ดุลยพินิจของผู้ตัดสินนั้นถูกต้องแล้วหรือ

แต่ก่อนที่จะไปถึงจังหวะนี้ ถ้าได้ดูทั้งเกม จะเห็นว่า รูปแบบการเล่นของเวียดนามที่อยู่ภายใต้การใช้มนต์สะกดของ ปาร์ค ฮัง ซอ ยังคงเป็นทีมที่มีการเล่นที่รุนแรง และมีจังหวะนอกเกมให้เห็นอยู่เป็นประจำ

จริงอยู่ที่การเล่นลักษณะที่เข้าเพรสคู่ต่อสู้อยู่ตลอด มันจะนำมาซึ่งการเข้าปะทะ การเข้าแย่งบอล การตัดเกม แต่การมีจังหวะนอกเกมด้วย ไม่ใช่เรื่องที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเกมการแข่งขัน ที่เขาเรียกกันว่า Dirty Tactics

แต่แนวการทำทีมของ ปาร์ค ฮัง ซอ ที่ไม่เคยยี่หระกับคำวิจารณ์ใด ๆ และยังคงร่ายมนต์สะกดให้กับนักเตะทีมชาติเวียดนามให้ยึดถือแนวทางการเล่นแบบนี้ต่อไป

นักเตะมาเลเซีย ในนัดนี้ต้องยอมรับว่าโดนลูกนอกเกมไปหลาย ๆ จังหวะ แถมยังไร้การเหลียวแลจากผู้ตัดสินชาวญี่ปุ่นในเกมนี้ ไม่เป่าให้ในจังหวะที่น่าจะเป่า แต่ไปเป่าให้เวียดนามในหลายจังหวะที่ไม่ควรจะเป่าให้

แน่นอนว่าช็อตใบแดงและจุดโทษนี่แหล่ะครับ เป็นเรื่องที่ทำให้ทีมชาติมาเลเซียต้องทำหนังสือขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในเกมนี้

จากสายตาผมก็มองว่าเอียงกระเท่เร่ แถมยังไม่มี VAR ในเกมระดับภูมิภาคนี้อีกด้วย ยิ่งไปกันใหญ่

เอาหล่ะ ถึงแม้เกมจะผ่านไปแล้ว แต่อะไรที่ไม่ชอบมาพากล เกี่ยวพันไปถึงดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้อง และอาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ก็ต้องพูดถึงสักหน่อย

จังหวะที่เป็นปัญหาเป็นจังหวะที่ผู้เล่นทั้งสองทีมพยายามเข้าถึงบอลที่เส้นหลังของกรอบเขตโทษฝั่งมาเลเซีย กองหลังของมาเลเซียถึงบอลก่อนแล้วเตะบอลกลับไปกลางสนาม แล้วโนผู้เล่นเวียดนามพุ่งชน

ทั้งคู่หลุดออกไปนอกสนามและมีจังหวะที่ผู้เล่นเวียดนามเอามือกุมที่หน้าพร้อมบิดตัวไปมา ปานว่าถูกทุบทำร้ายที่หน้าอย่างรุนแรง

เป็นจังหวะที่ผู้ตัดสินยังคงมองตามมาอย่างต่อเนื่องจนในนที่สุดก็เป่าหยุดเกม พร้อมปรึกษาผู้ข่วยผู้ตัดสินก่อนที่จะเป่าให้เป็นการทำฟาวล์ของผู้เล่นมาเลเซียนอกสนาม พ่วงด้วยใบแดง และจุดโทษอีกด้วย

ยอมรับว่างงกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก เพราะถ้ามองอย่างเป็นธรรมแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิดหากผู้ตัดสินเป่าให้เป็นลูกฟาวล์ของมาเลเซีย เพราะถูกผู้เล่นเวียดนามกระแทกหลังจากเตะลูกนี้ออกไปแล้ว

แต่เมื่อไม่เป่า ก็เลยมีการใช้ดุลยพินิจว่า ผู้เล่นมาเลเซียไปเล่นนอกเกมใส่ผู้เล่นเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีภาพชัดเจนให้เห็น เพราะไม่มี VAR

ถ้าเทียบกันแล้ว จังหวะกระแทกของผู้เล่นเวียดนาม ดูง่ายกว่าจังหวะผู้เล่นมาเลเซียเล่นนอกเกมมากมาย

แถมพอมาดูภาพช้า เห็นชัดว่าเท้าของผู้เล่นมาเลเซียเกิดจากการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของคนที่พยายามจะลุกขึ้น ไม่ใช่เจตนา “เตะ” ที่หน้าของผู้เล่นเวียดนาม

แต่จากอากัปกิริยาที่ผู้เล่นเวียดนามแสดงออก ประหนึ่งว่าถูกเตะไปเต็มหน้า และผ้ตัดสินก็หลงเชื่อว่าเป็นการเจตนาเล่นนอกเกม

ส่วนลูกโทษนั้น ตามกติกาก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะ  LAWS OF THE GAME ข้อที่ 12.4, 13 และ 14 มีการระบุไว้ว่า

“หากมีการทำฟาวล์นอกสนามในจังหวะต่อเนื่องในเกม (บอลอยู่ในการเล่น) การทำฟาวล์แม้เกิดนอกสนาม แต่หากมีการฟาวล์เกิดขึ้นจริงแล้ว ให้ยึดจากบริเวณที่ใกล้บริเวณสนามมากที่สุด”

ซึ่งกรณีนี้บริเวณใกล้ในสนามที่สุดคือเส้นบริเวณเขตโทษ  ดังนั้น ผู้ตัดสินสามารถเป่าให้จุดโทษได้ทันที ซึ่งกติกานี้เป็นเรื่องใหม่และอาจจะทำใจยอมรับได้ยากเหมือนกัน

ถือเป็นมรดกบาป จากการที่ไม่เป่าให้เป็นลูกฟาวล์ของมาเลเซียแต่แรก เป็นความโชคร้ายถึง 3 ชั้นในจังหวะเดียว

ไม่ได้ฟาวล์ แถมยังต้องมาเสียจุดโทษ และใบแดงอีกด้วย จะไม่ให้ทีมชาติมาเลเซียทำหนังสือร้องเรียนได้อย่างไรกัน

แม้จะเป็นผู้ตัดสินที่พะยี่ห้อฟีฟ่าไว้บอนกระเป๋าเสื้อ มาจากดินแดนที่ยึดถือความถูกต้องอย่างแข็งขัน แต่สำหรับผู้ตัดสินรายนี้ คงยกเอาองค์ประกอบ 2 อย่างข้างต้นมาใช้ประกอบว่าเขาจะตัดสินได้อย่างเที่ยงธรรมได้ยาก

ส่วนทัวร์นาเม้นต์ที่สมควรจะต้องมี VAR มาใช้แต่กลับไม่ได้ยกมาเป็นเรื่องที่จะต้องมี เลยทำให้หลายจังหวะ หลายเกม มีความผิดพลาดในการตัดสินเกิดขึ้น

เอเอฟเอฟ คงต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่า ที่ใครเขาว่าเรื่องมาตรฐานจัดการแข่งขัน มาตรฐานการตัดสินแบบนี้ ภูมิภาคนี้จะยกระดับไปได้อย่างไรกัน

ส่วนเรื่องการถ่ายทอดสดของประเทศไทย ก็ยังเป็นเรื่องที่ให้ต้องพูดถึงกันสองทัวร์นาเม้นต์ติดต่อกัน ช่างเป็นเรื่องยากเย็นจริง ๆ

ปัญหาเรื่องนึงก็คือมูลค่าของลิขสิทธิ์ที่สูงเกินไป ไม่สามารถนำมาทำกำไรได้ในทางธุรกิจ จึงหาคนที่จะซื้อลิขสิทธิ์ที่จะนำมาฉายให้คนไทยได้ดูแบบไม่เสียเงิน ยากเต็มที

ในเชิงธุรกิจ ฟุตบอลรายการนี้ ไม่ได้มีผลตอบแทนมากพอที่นำมาสร้างกำไรได้เลย อย่าว่าแต่กำไร แค่ทุนคืนยังยาก เอกชนทุกเจ้าจึงส่ายหน้า ไม่ควักเนื้อแน่ ๆ

จนสุดท้ายพระเอกอย่าง “กองสลากพลัส” ก็โดดเข้ามาจ่ายเงินหลายสิบล้านเพื่อเอาสัญญาณมาออกฟรีทีวีให้แฟนบอลชาวไทยได้ชม

ก็นั่นแหล่ะครับ งานนี้ เสียกับเสียในเรื่องของเงิน แต่ที่จะได้กลับไปคือ “ใจ” ที่แฟนบอลไทยอาจจะเทไปหาผู้สนับสนุนในครั้งนี้ผ่านการซื้อสินค้าของเขาก็เท่านั้นเอง

เมืองไทย อะไรง่าย ๆ ไม่มีแล้วหล่ะครับ

โปรแกรม AFFMitsubishiElectricCup2022 กลุ่ม A นัดสุดท้าย

2 ม.ค. 2023 19.30 น. 🇵🇭 ฟิลิปปินส์ พบ อินโดนีเซีย 🇮🇩 19.30 น. 🇹🇭 ไทย พบ กัมพูชา 🇰🇭

โปรแกรม AFFMitsubishiElectricCup2022 กลุ่ม B นัดสุดท้าย

3 มค. 66 19.30 น. 🇲🇾 มาเลเซีย พบ สิงคโปร์ 🇸🇬 19.30 น. 🇻🇳 เวียดนาม พบ เมียนมาร์ 🇲🇲

เครดิตภาพ :  FB Football Association of Malaysia , ช้างศึก , ASEAN FOOTBALL

by TTDad

Warut