ฟุตบอลชิงแชมป์รายการ AFF Suzuki Cup 2020 รอบชิงชนะเลิศนัดที่สอง ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของรายการ แม้นจะจบลงที่ผลเสมอ แต่ผลต่างที่ตุนมาก่อน 4 – 0 ในนัดแรก เพียงพอให้ทีมชาติไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง นับเป็นแชมป์สมัยที่ 6
การจัดตัวของทีมชาติไทย ยังคงเป็นลักษณะ “โรเตชั่น” เพื่อรักษาสภาพความสดของนักเตะ รวมถึงผลในนัดแรก ทำให้การปรับเปลี่ยนในนัดนี้กลับไปใช้ผู้เล่นชุดหลักเป็นส่วนใหญ่อีกครั้ง
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นชุดไหนก็สามารถทดแทนตำแหน่งกันได้ รวมถึงความต่อเนื่องของการลงเล่นก็ไม่เห็นมีอะไรสะดุดแต่อย่างใด ถือเป็นอีกจุดเด่นของทีมชุดนี้
แน่นอนว่าคู่ชิงอย่าง อินโดนีเซีย ไม่มีอะไรต้องเสีย หากไม่เปิดเกมรุกเข้าใส่ ก็มีแต่จะรอเวลาให้หมดไปโดยที่ตัวเองจะจบแค่เพียงรองแชมป์
การจัดรูปแบบการเล่นในช่วงต้นจึงจำเป็นจะต้องเปิดเกมรุกเข้าใส่ และการเข้าบอลที่เร็วมากขึ้นกว่านัดแรก ซึ่งก็ได้ผล จากการขึ้นนำก่อน ด้วยการยิงเข้ากรอบแล้วความผิดพลาดของ ศิวรักษ์ ก็มอบประตูแรกให้กับ อินโดนีเซีย ซึ่งตลอดทั้งครึ่งแรก ก็มีเพียงแค่จังหวะนี้เท่านั้นที่พวกเขา “ยิงเข้ากรอบ”
แต่เมื่อการใช้พละกำลังในช่วงครึ่งแรกมากเกินไป จึงทำให้การลงมาเล่นในครึ่งหลังพวกเขาจะแสดงให้เห็นถึงพละกำลังที่ถดถอยลงไปอย่างเห็นได้ชัด นักเตะของ อินโดนีเซีย ที่ลงเล่น 8 นัด มีถึง 7 คน และ 7 นัด 1 คน แสดงให้เห็นว่าพวกเขากรำศึกมาอย่างต่อเนื่องด้วยตัวผู้เล่นเดิม ๆ
รูปเกมครึ่งหลังจึงกลับไปคล้ายกับในนัดชิงชนะเลิศนัดแรก ที่พวกเขาไม่สามารถใช้พละกำลังเข้าเพรสซิ่งได้ และก็เป็น “ช้างศึก” ที่อาศัยจังหวะเข้าทำเร็ว รวมถึงการเก็บบอลในจังหวะสองที่ดีขึ้น พลิกสถานการณ์กลับขึ้นมานำจากการทำประตูในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่นาที
ถึงแม้สุดท้าย อินโดนีเซีย จะมาได้ประตูตีเสมอก่อนหมดเวลา แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาขยับเข้าใกล้โอกาสในการกระชากถ้วยแชมป์ที่ “ช้างศึก” กอดไว้แน่นหลังจบเกมนัดแรกไปได้
บทสรุปของการแข่งขันในครั้งนี้ ก็เป็นทีมชาติไทย ที่ได้แชมป์ไปครอง จากผลประตูรวมสองนัดที่ 6 – 2 เอาชนะ ทีมชาติอินโดนีเซีย ที่ได้ครองตำแหน่งรองแชมป์ไปเป็นสมัยที่ 6 จากการเข้าชิงทั้งหมด 6 ครั้ง และเป็นการพ่ายแพ้ให้กับ ทีมชาติไทย ในนัดชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 4
เป็นแชมป์แรกของชายที่ชื่อ มาโน่ โพลกิ้ง ในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอน เป็นการคุมทีมชาติรายการแรก และยังเป็นรายการที่นักเตะทีมชาติไทยทุกคน ได้โอกาสลงสนามทุกคน ซึ่งเราไม่ค่อยได้เจออะไรแบบนี้ นักเตะบางคนแค่มีชื่อติดทีมชาติ ได้เดินทางไปร่วมแข่งขัน แม้ไม่ได้ลงก็ตาม แต่หนนี้ ทุกคนได้โอกาสลงทั้งหมด ขวัญกำลังใจไม่ต้องบอกว่าดีแค่ไหน
สถิติไร้พ่ายตลอดทัวร์นาเมนต์ เสมอแค่ 2 นัดที่เหลือชนะรวด ยิงไป 18 เสีย 3 ประตู และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กัปตันทีมชาติไทย คว้าตำแหน่ง MVP ประจำการแข่งขัน และเป็นคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ได้ถึง 3 สมัย
ไหน ๆ ก็แวะเวียนมาในเรื่องสถิติแล้ว ก็ขอยกเอาสถิติที่น่าสนใจของการแข่งขันในครั้งนี้มาให้ได้ดูกัน เริ่มจากภาพรวมการแข่งขันในครั้งนี้ มีเกมที่ลงเล่น 26 เกม มีคลีนชีต 18 นัด เป็นของ ทีมชาติไทย 6 เกม สูงที่สุด ผ่านบอลรวม 21,536 ครั้ง มีการทำประตูไปได้ทั้งหมด 88 ลูก เฉลี่ยแล้วใน 1 นัดจะทำประตูกัน 3.38 ลูก จากจำนวนการยิงทั้งหมด 702 ครั้ง เข้ากรอบ 248 ครั้ง
นักเตะที่ทำประตูได้สูงสุด คนละ 4 ประตูมี Bienvenido Marañon จาก ฟิลิปปินส์ Safawi Rasid จาก มาเลเซีย ทั้งคู่ลงเล่นไป 4 นัด และ ดูโอ้ ชนาธิป-ธีรศิลป์ ของทีมชาติไทย ที่ลงเล่นไป 6 และ 7 นัด ได้ครองดาวซัลโวประจำการแข่งขันร่วมกันไป
ส่วนนักเตะที่ Assist มากที่สุดเป็น Witan Sulaeman ของ อินโดนีเซีย 5 ครั้ง ผู้รักษาประตูที่เซฟได้มากที่สุดเป็น Hassan Sunny ที่เซฟไป 20 ครั้ง จาก 6 เกมที่ลงเล่น
การทำฟาวล์รวมทั้งการแข่งขันทั้งหมด 704 ครั้ง ใบเหลือง 75 ใบ ทีมชาติไทยรับไปทั้งหมด 17 ใบ จาก 8 นัดที่ลงเล่น เฉลี่ย 2 ใบต่อนัด นักเตะที่ได้ใบเหลืองมากที่สุดคือ ธีราธร รับไป 4 ใบ ส่วนใบแดง 3 ใบ เป็นของเจ้าภาพ สิงคโปร์ ทั้งหมด และยังเกิดขึ้นในเกมเดียวอีกด้วย
ที่น่าแปลกใจที่ทีมที่เล่นหนัก ๆ อย่างเวียดนาม ทำฟาวล์รวม 88 ครั้ง จาก 6 เกมที่ลงเล่น เฉลี่ยเกมละ 14.6 ครั้ง เท่ากับ ทีมชาติไทย แต่ใบเหลืองแค่ 8 ใบ หรือ 1.3 ใบต่อ 1 เกมเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือในครั้งนี้ ทีมที่มีการผ่านบอลที่แม่นยำที่สุดคือ ทีมชาติไทยที่ 85% อันดับที่ 2 เป็น กัมพูชา 84% พ่วงด้วยการเป็นทีมที่เข้าแย่งบอลชนะมากที่สุดที่ 70% เหนือกว่าทุกชาติที่เข้าแข่งขันในรายการนี้ ด้วยอายุเฉลี่ย 22.3 ปี และมี 10 คนในทีมชุดนี้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ทำให้มีโอกาสที่พวกเขาจะต่อยอดผลงานได้ดีในอนาคต ถือเป็นผลงานที่ดีของ Ryu Hirose หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น
มาต่อกันที่ความเคลื่อนไหวตลาดนักเตะในลีกบ้านเรากันต่อ เกมในเลกสองของไทยลีก 1 และ 2 ก็จะได้ฤกษ์กลับมาเตะอีกครั้งในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้
ดีลของไทยลีก 1 ที่เห็นจะเป็นไฮไลท์ก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านคลองเตย เมื่อ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ และ อดิศักดิ์ ไกรษร ได้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ หลังจากบินกลับมาจากศึกชิงแชมป์อาเซียน ก่อนหน้านี้ในระหว่างการแข่งขัน เจนภพ โพธิ์ขี ก็ตกปากรับคำมาเป็นสมาชิกในถิ่นคลองเตยก่อนแล้ว
มากันที่กลุ่มหนีตกชั้นกันบ้าง ช้างเผือก เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ทีมอันดับสุดท้าย ก็เพิ่งได้ เอกนิษฐ์ ปัญญา จากเชียงราย ยูไนเต็ด ที่ปล่อยให้ยืมมาเพื่อภารกิจ “หนีตกชั้น” ตามหลัง บิลล์ โรซิมาร์ ที่มาแล้วก่อนหน้านี้ ต้องมาดูกันว่าแค่ 2 รายที่เดินเข้ามาจะช่วยพาให้อยู่รอดในไทยลีก 1 ได้หรือไม่
พีที ประจวบ เอฟซี ก็ได้ ทิตาธร และ ทิตาวีร์ อักษรศรี 2 พี่น้องคู่แฝดจาก การท่าเรือ เอฟซี ในรูปแบบสัญญายืมตัวเช่นกัน รวมถึง ประวีณวัช บุญยงค์ นุกูลกิจ ครุฑใหญ่ และ แพทริค ไรเชลท์ ผู้เล่นที่ประสบการณ์เข้ามาช่วยอีกด้วย
สุพรรณบุรี เอฟซี ในช่วงเปิดตลาดรอบนี้ พวกเขาได้นักเตะเข้ามาเสริมแล้ว 11 ราย ที่ฮือฮามากที่สุดก็คงเป็นการมาของ วิลเลียม เอ็นริเก้ แนวรุกหลังจากที่ทีมพลาดการคว้าตัว แฮริสัน ไคออน ที่ตัดสินใจไปเก็บเงิน “ริงกิต” ที่มาเลเซีย นอกนั้นก็เป็นนักเตะที่อยู่ในระดับไทยลีก 1 อย่าง จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ จาก ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ศฤงคาร พรหมสุภะ และ พัชรพล อินทนี ที่ยืมมาจาก เมืองทอง ยูไนเต็ด
ส่วนไทยลีก 2 ก็ยังคงมีการเปิดตัวนักเตะที่ย้ายเข้ามาใหม่ ในช่วงสุดท้ายของตลาดซื้อขาย ที่น่าสนใจก็มี สโมสรเกษตรศาสตร์ เอฟซี ได้บรรลุข้อตกลงคว้าตัว สุขพร วงศ์เชียงคํา จากสโมสร อุดรธานี เอฟซี
ลำปาง เอฟซี ที่เปิดตัวนักเตะ 4 ราย อานิสงส์ เจริญธรรม และ กฤษณ เกษมกุลวิไล จาก หนองบัว พิชญ เอฟซี LUCAS MASSARO จาก สิงห์ระฆังทองกาญจนบุรีและ ยูกิ บัมบะ จากราชนาวี
มุสตาฟา อาซัดซอย กองกลางตัวรุกทีมชาติอัฟกานิสถาน ที่เพิ่งมีข่าวว่าจรดปากกาเซ็นสัญญาเป็นนักเตะของ เมืองทอง ยูไนเต็ด และมีทีท่าว่าจะได้ลงมาเล่นให้กับ อยุธยา ยูไนเต็ด แบบยืมตัวในเลก 2 นี้
เมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด ทีมที่มีข่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปัญหาในการบริหารงาน จนมีข่าวเรื่องการค้างค่าเหนื่อยให้นักเตะในทีมหลายราย มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการยกทีมงานบริหารมาจาก สิงห์ระฆังทองกาญจนบุรี รวมถึงนักเตะหลักก็ถูกยกมาเกือบทั้งยวง จะเรียกว่าลอยแพ “ทีมน้อง” คงไม่ผิดนัก
ผสมผสานไปกับผู้เล่นที่ยังอยู่และที่เข้ามาใหม่ทั้ง กัณตภณ คีรีแลง ดาวรุ่งจาก ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด จักกริช เข็มนาค จาก เมืองเลย ยูไนเต็ด มาร์ลอน ซิลวา จาก ลำปาง เอฟซี และรายล่าสุด สุพจน์ จดจำ จาก เกษตรศาสตร์ เอฟซี
ส่วนนักเตะที่ขอแยกทาง แฮร์ริสัน ไคออน กรวิทย์ นามวิเศษ มาร์ติน สตูเบิล สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ธัชนนท์ นคราวงศ์ อมรเทพ นิลน้อย ก็ถือเป็นแข้งหลักที่ทีมต้องเสียไป ส่วนการแข่งขันในนัดแรกเลก 2 ยังมีการเปลี่ยนสนามของเชียงใหม่ เอฟซี ไปเป็น สนามสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี และ ระยอง เอฟซี ที่เดิมขอใช้ พีทีที สเตเดียม ก็จะได้ฤกษ์กลับมาใช้ สนามกีฬากลาง จังหวัดระยอง ตามเดิม ซึ่งทั้งสองทีมได้มีการประกาศออกมาแล้วจากทางไทยลีก
by TTDad
เครดิตภาพ : https://www.affsuzukicup.com/2020 | FB Chiangmai United | FB Lampang FC สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี | FB Suphanburi FC
ร่วมสนับสนุนโดย
#อีซูซุศาลาเชียงใหม่ #ChiangmaiFreshmilk #zetajersey #ดาวเรืองตราบ้าน #ทรายป่าห้า
.
#ไทยลีก #ไทยลีก2 #ไทยลีก3 #thaileague #ฟุตบอล #ข่าวฟุตบอล #ภาคเหนือ #ข่าวบอล #ข่าวบอลไทย #ข่าวฟุตบอลไทย #ป้อก๊าแข้ง #ไทยลีก1 #ฮิมสนาม #ฮิมสนามตั้งวงเล่า #บอลไทย #football #เล่าสู่กันฟัง #มังกรฟ้าลีก #Bluedragonleague #North #m150championship #thaileague2 #RevoThaiLeague