ด้วยพระอัจฉริยภาพทางกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง จากการแข่งขันเรือใบ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) ครั้งที่ ๔
เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐
คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึง
พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการกีฬา
โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
จัดให้มีการเฉลิมถลอง “วันกีฬาแห่ชาติ” ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๒๙
โดยกิจกรรมหลักที่กำหนดให้มีใน “วันกีฬาทั้งชาติ” ประกอบด้วย
นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการกีฬา
งานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาและบุคลกรกีฬาดีเด่น การสาธิตและการแข่งขันกีฬาต่างๆ ฯลฯ
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์นอกจากจะเป็นการน้อมรำลึก
และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการกีฬาแล้ว
ยังเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าให้ประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย เห็นความสำคัญและคุณค่า
ของการออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อดำเนินรอยตามพระยุคลบาทต่อไป ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมกีฬาและจังหวัดต่างๆ ได้จัดกิจกรมดังกล่าวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
สกี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉายแววพระอัจฉริยภาพทางกีฬาหลายประเภทตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดั่งปรากฎในพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น), สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (พระอิสริยศักดิ์ในขณะนั้น) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อัฐมรามาธิบดินทร พระบรมเชษฐาธิราช ทรงฉลองพระองค์ชุดสกี พร้อมอุปกรณ์การเล่นสกี ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ปุยหิมะขาวโพลน ขณะมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงสกี โดยมีนายชาเตอลานา ชาวสวิสเป็นครูฝึก ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่มีถวายสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า “…นันทกับ เล็กสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่านันท ทำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก…”
แบดมินตัน
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังมีพระราชภารกิจไม่มากมาย กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงมาก่อนกีฬาเรือใบ ในยุคต้นๆ ที่กีฬาแบดมินตันเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น คนไทยไม่ค่อยสนใจกันมากนัก พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย คอยติดตามข่าวและเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งสำคัญๆ อยู่เสมอ ทรงสังเกตวิธีการเล่นของนักแบดมินตันมืออาชีพ นักกีฬาแบดมินตันที่มีชื่อเสียงหลายคนในสมัยนั้น จึงได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมเล่นที่สนามกีฬาแบดมินตันในสวนจิตรลดา หนึ่งในนั้นมีแชมเปี้ยนโลกชาวสิงคโปร์ชื่อ “ว่อง เป็ง สูน”
โดยทั่วไปจะทรงแบดมินตันสัปดาห์ละ ๓ วัน ทรงโปรดการเล่นทั้งประเภทคู่ และประเภทชายสาม ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง คือ ไม่ทรงแสดงอาการกริ้วอย่างใด เมื่อทรง ตีลูกเสีย เมื่อผู้ที่ร่วมเล่นตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งพระวรกายจากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์จากการที่พระองค์ได้ทรงแบดมินตันกับนักกีฬาเหล่านี้ ทรงเห็นว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป มีรับสั่งในเรื่องนี้หลายครั้ง ก่อนที่คนไทยหลายๆ คนจะมองเห็นความสำคัญของกีฬาแบดมินตันในสมัยนั้น
นอกจากนั้นยังทรงกีฬาอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ กีฬาที่ทรงโปรด ส่วนใหญ่เป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้พระกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้รอบตัว เทคนิคไหวพริบ และความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นแบบอย่างให้นักกีฬาทุกคนได้เรียนรู้ศาสตร์ของกีฬาแต่ละชนิดอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยกีฬาเรือใบอย่างจริงจัง ด้วยทรงเห็นว่า การเล่นเรือใบเป็นกีฬากลางแจ้ง เล่นอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ และลมเย็นสบาย นอกจากนี้ การเล่นเรือใบจะต้องใช้ความสามารถของร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่สมอง มือ แขน ขา ประสานงานกันอย่างดี จึงจะสามารถบังคับเรือให้แล่นไปได้ในทิศทางที่ต้องการ
ด้วยความสนพระราชหฤทัยในงานช่าง และทรงโปรดกีฬาเรือใบ ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงทรงทดลองออกแบบและต่อเรือใบ เพื่อใช้แข่งขันด้วยพระองค์เอง ทุกขั้นตอน และได้ทรงทดลองแล่นเรือใบด้วยพระองค์เองในสระสวนจิตรลดา และทรงพระราชทานนามเรือใบลำแรกว่า “ราชปะแตน” โดยเรือดังกล่าวเป็นเรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพร์ส (Emterprise)
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ทรงต่อเรือใบตามแบบสากลประเภทโอเค (OK Dinghy) และพระราชทานนามว่า “นวฤกษ์” นอกจากนี้ยังทรงต่อเรือใบประเภทโอเคขึ้นอีกหลายลำ หนึ่งในนั้นคือ “เวคา” ซึ่งมีความหมายว่าความเร็วเหนือสายน้ำ โดยเรือลำนี้คือเรือประวัติศาสตร์ที่พระองค์ทรงใช้แล่นข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปฐานของนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระยะทาง ๖๐ ไมล์ทะเล ทรงใช้เวลาในการแล่นใบ ๑๗ ชั่วโมง เพียงพระองค์เดียวได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๙
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๙ ถึง พ.ศ.๒๕๑๐ ทรงคิดค้น ออกแบบ และต่อเรือใบ ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง พระราชทานนามว่าเรือใบ “มด” (Mod) และทรงจดสิขสิทธิ์เรือใบมดให้อยู่ในประเภทสากลแบบม็อธ ณ สหราชอาณาจักร หลังจากนั้นพระองค์ทรงปรับปรุงเรือใบมดใหม่ และพระราชทานนามว่าเรือใบ “ซูเปอร์มด” (Super Mod) โดยทรงนำขึ้นทะเบียนเรือกับสหพันธ์เรือใบนานาชาติ และได้พระราชทานแบบเรือใบตระกูลมดให้กรมอู่ทหารเรือ หลังจากนั้นได้มีการต่อเรือใบตามแบบพระราชทาน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ ในการแข่งขันกีฬา เรือใบ ประเภทเรือใบโอเค โดย เรือใบชื่อ “เวคา ๒” หมายเลข TH ๒๗ เป็นเรือใบลำที่ทรงใช้ในการแข่งขัน และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทอง ร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาในพระองค์ ซึ่งในประวัติศาสตร์มีพระมหากษัตริย์สามพระองค์ที่ทรงแข่งกีฬาเรือใบในระดับนานาชาติ แล้วได้รับเหรียญทอง คือ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศกรีช และประเทศไทย แต่มีพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทยเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงต่อเรือใบด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง
จากเหตุการณ์ลงแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ และทรงเป็นผู้ชนะเลิศของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ทำให้ประวัติศาสตร์วงการกีฬาโลกต้องจารึกว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเอเชียพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่มีประปรีชาสามารถคว้าแชมป์จากการแข่งขันเรือใบนานาชาติด้วยเรือที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองเป็นผลสำเร็จ ราชการไทยจึงถือเอาวันที่ ๑๖ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในครั้งนั้นเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๕๑๐ และพระมหากรุณาธิคุณในการสนับสนุนกีฬาอย่างแท้จริงจนเป็นที่ประจักษ์ และเชิดชูไปทั่วโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) จึงมีมติเอกฉันท์ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด” (ทอง) แด่พระองค์ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับเกียรติยศดังกล่าว และเป็นการประกาศพระเกียรติคุณในด้านการกีฬาของพระองค์ไปทั่วโลก
ปี พ.ศ.๒๕๔๑ สภากีฬาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia หรือ OCA) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล เมอริต อวอร์ด (Merit Award) เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณด้านการกีฬาที่พระองค์เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์
ปี พ.ศ.๒๕๔๓ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ลาลาลูนีส คัพ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในการเชิดชูและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่เคยเป็นนักกีฬาดีเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมโลก
ปี พ.ศ.๒๕๔๔ สภามวยโลก ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดทำเหรียญรางวัลทองคำเกียรติยศสูงสุด “Golden Shining Symbol of World Leadership” เป็นกรณีพิเศษ เพื่อทูลเกล้าถวายฯ โดยยังมิได้เคยมีการมอบให้แก่ผู้ใดมาก่อน
ปี พ.ศ.๒๕๔๙ สมาคมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (ANOC) มีมติทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์ รางวัล ANOC Merit Award ซึ่งรางวัลดังกล่าวจัดทำขึ้นสำหรับบุคคลหรือองค์กรที่อุทิศตนแก่การกีฬาในระดับชาติ และเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ นายโจเซฟ แบลตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทางการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ก่อนพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นับเป็นการเทิดพระเกียรติครั้งสำคัญให้ผู้ชมทั่วโลกได้ทราบถึงพระจริยวัตรทางด้านกีฬา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการกีฬาเป็นอย่างมาก โดยทรงวางรากฐานให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในทุกด้าน ทั้งในส่วนของทรงอุปถัมภ์สมาคมกีฬาการ พระราชทานทุน เพื่อสร้างสรรพกำลังในการพัฒนากีฬาด้านต่างๆ ไปจนถึงการพระราชทานขวัญและกำลังใจให้กับทัพนักกีฬาอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ให้แก่วงการกีฬาไทยจวบจนปัจจุบัน