เล่าฮิมสนาม : VAR (Video Assistant Referee)

ในห้วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีแฟนฟุตบอลคนไหนไม่เคยได้ยินคำว่า VAR หรือชื่อเต็ม Video Assistant Referee หากจะแปลเป็นไทยให้ได้ตรงคำศัพท์ก็จะได้ว่า ผู้ช่วยผู้ตัดสินภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิโอ โดยจะมีหน้าที่ในการทบทวนดุลยพินิจของผู้ตัดสินในสนาม

VAR ถูกบรรจุลงในกฎระเบียบการแข่งขัน หรือ Laws of the Game เป็นครั้งแรกในปี 2018 โดย องค์กรที่มีหน้าที่ในการกำหนดกติกาการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือที่เราเรียกว่าคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือชื่อในภาษอังกฤษว่า the International Football Association Board (IFAB)

VAR ถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์หลักในการลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ อันจะมีผลโดยตรงต่อผลการแข่งขัน นัยยะนี้ก็คือ เพื่อความบริสุทธิ์ และ ยุติธรรม ในผลของการแข่งขันของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เป็นผลมาจากการความผิดพลาดของการตัดสิน

VAR นั้นทำงานภายใต้ปรัชญา “การรบกวนน้อยที่สุด ให้ประโยชน์สูงสุด” ระบบ VAR พยายามที่จะค้นหาแนวทางเพื่อให้ “ความผิดพลาดที่ชัดเจนและเห็นได้ชัด” และ “เหตุการณ์ที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง” ได้รับการแก้ไข

ถ้าจะให้พอเห็นภาพ ผู้ช่วยผู้ตัดสินนี้ไม่ใช่เอาภาพมาเป็นผู้ช่วยได้เลยทันที แต่จะมีคณะทำงานที่เรียกว่า VAR team ที่จะทำงานอยู่ในห้องที่มีชื่อว่า Video Operation Room (VOR) ทันทีที่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจของผู้ตัดสินในสนาม 4 รูปแบบ ก็จะมีสัญญาณจากห้องนี้ ส่งไปยังผู้ตัดสินกลางสนาม

ซึ่งทั้ง 4 รูปแบบที่ว่านี้ประกอบไปด้วย

1.           ได้ประตูหรือไม่ ในความหมายนี้ก็คือ ฝ่ายรุกที่ทำประตูได้นั้น ได้ทำฟาวล์ก่อนหรือไม่ มีการล้ำหน้า แฮนด์บอล ทำผิดกติกาในขณะการยิงลูกที่จุดโทษหรือไม่ ลูกฟุตบอลหลุดอออกนอกสนามไปแล้วหรือไม่ ลูกบอลเข้าประตูหรือไม่

2.           เป็นลูกจุดโทษหรือไม่ ในความหมายนี้ก็คือ ฝ่ายรุก เป็นฝ่ายทำฟาวล์หรือไม่ ลูกฟุตบอลหลุดอออกนอกสนามไปแล้วหรือไม่ ตำแหน่งที่มีการทำฟาวล์ การให้จุดโทษผิดพลาด และการที่ไม่เป็นจุดโทษ

3.           ใบแดงโดยตรง เป็นการขัดขวางโอกาสในการทำประตูหรือไม่ การทำฟาวล์ที่รุนแรง พฤติกรรมที่รุนแรง รวมถึงการกัด ถ่มน้ำลายใส่คู่ต่อสู้ ใช้ภาษาหรือแสดงออกทางกายในลักษณะ ก้าวร้าว ไม่พอใจ การดูถูก เหยียดหยาม การให้ใบแดงโดยตรงนี้จำเป็นต้องมีการทบทวน

4.           การให้ใบเหลือง หรือ ใบแดงที่ผิดพลาด

ในการตรวจสอบนั้น ทีมงานผู้ตัดสินที่อยู่ในห้องทำงาน จะตรวจสอบการตัดสินของผู้ตัดสินในสนามเมื่อมีเหตุการณ์เข้าข่าย 1 ใน 4 รูปแบบข้างต้นนี้ (ทางเทคนิคจะต้องมีการตัดสินจากผู้ตัดสินก่อนเสมอ) ถ้าหากไม่พบความผิดปกติในการตรวจสอบ เกมการแข่งขันจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีการหยุดชะงัก เรียกว่า “ตรวจสอบเงียบ” ไม่ต้องการการปฏิบัติใด ๆ นั่นคือความหมายของการยืนยันในคำตัดสินของผู้ตัดสินว่าถูกต้องแล้ว

แต่หากมีการตรวจสอบแล้ว ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการตัดสินของผู้ตัดสิน เกมอาจจะหยุดชะงักได้ ผู้ตัดสินอาจจะยังไม่ให้เกมการแข่งขันดำเนินต่อ และแสดงภาษากายโดยการชี้ไปที่หูของตัวเอง (ชี้ไปตรงหูฟัง แสดงให้ทราบว่ากำลังมีการทบทวนโดย VAR อยู่) ส่วนแขนอีกข้างเหยียดตรงไปอีกฟาก

และเมื่อ VAR ได้ความชัดเจนและเห็นอย่างชัดเจนถึงความผิดพลาดในคำตัดสินของผู้ตัดสินแล้ว จะมีทางเลือก 3 ทางด้วยกัน คือ

1.           กลับคำตัดสินของผู้ตัดสินโดยคำแนะนำของ VAR: กรณีกลับคำตัดสินนั้นอาจจะไม่ต้องให้ผู้ตัดสินตรวจสอบด้วยตนเองก็ได้ เช่น กรณีล้ำหน้าที่มักจะเห็นว่ามีการตีเส้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าล้ำหรือไม่ล้ำ หรือ การทำฟาวล์ในเขตโทษหรือไม่ ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น VAR จึงสามารถตัดสินได้เลย

2.           แนะนำให้ผู้ตัดสินได้ทบทวนด้วยตัวเองที่ข้างสนาม (จุดตรวจสอบ VAR ที่จัดไว้ ณ สนามแข่งขัน): การทบทวนด้วยตนเองของผู้ตัดสิน เป็นสิ่งปกติเพื่อยืนยันในคำตัดสินของผู้ตัดสินเอง เช่น การทำฟาวล์นั้นชัดเจนเพียงใด การคาดโทษด้วยใบแดงนั้นถูกต้อง หรือในครั้งแรกผู้ตัดสินคาดโทษด้วยใบเหลือง แต่จากการทบทวนอีกครั้งด้วย VAR การคาดโทษด้วยใบเหลืองอาจจะไม่ถูกต้อง ผู้ตัดสินควรจะทบทวนด้วยตนเองอีกครั้ง เป็นต้น

3.           ผู้ตัดสินเลือกที่จะปฏิเสธคำแนะนำของ VAR: สิทธิ์ในการตัดสินใจสุดท้าย สงวนไว้สำหรับผู้ตัดสิน ดังนั้นทุกกรณีรวมถึงการปฏิเสธคำแนะนำของ VAR ก็สามารถทำได้เช่นกัน

เมื่อผู้ตัดสินต้องการที่จะทบทวนด้วยตนเองที่ข้างสนาม ผู้ตัดสินจะแสดงภาษากายด้วยการทำมือเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายจอภาพ และไปยังจุดตรวจสอบข้างสนาม

ภาพเคลื่อนไหวที่ผู้ตัดสินจะได้ทบทวนนั้น จะมาจากที่ทีมงาน VAR ส่งมาให้ จากมุมกล้องต่าง ๆ ในหลากหลายมุม มีภาพช้า เดินหน้า ถอยหลัง จากเหตุการณ์นั้น เพื่อให้ผู้ตัดสินได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และภาพเคลื่อนไหวเดียวกันนี้จะเปิดเผยให้กับสาธารณะด้วยในเวลาเดียวกันเพื่อความโปร่งใส

เมื่อต้องทำการตัดสินใจสุดท้าย หลังจากที่ได้ทบทวนด้วยตัวเองที่ข้างสนามแล้ว ผู้ตัดสินจะแสดงภาษากายด้วยการทำมือเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายจอภาพอีกครั้ง และแสดงผลการตัดสินใจ

นี่แหล่ะครับคือรายละเอียดของ VAR ที่ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คาดหวังว่าจะมาสร้างความยุติธรรมให้กับเกมการแข่งขัน

แต่อย่างที่ได้เรียบเรียงให้ได้รับทราบ และบทสรุปสุดท้ายของสิทธิ์ในการตัดสินใจสุดท้ายที่ยังคงเป็นของผู้ตัดสินในสนาม

ก็อาจจะมีความเห็นที่อาจจะไม่ตรงกันนักสำหรับการตัดสินของผู้ตัดสินหลังจากทบทวนด้วย VAR แล้วกับสิ่งที่แฟนบอลคาดหวังหลังจากที่ได้เห็นภาพชุดเดียวกันนั้น อย่างที่เราได้เห็นกันในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจบนความก้ำกึ่ง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการริบประตูโดยผู้เล่นฝ่ายรุก “ลำหน้า” ก่อนที่จะได้ประตู มีการลากเส้นให้เห็นว่าที่ว่า “ล้ำ” นั้นล้ำจริงหรือไม่ ส่วนไหนที่เรียกว่าล้ำ จนมีการปรับเปลี่ยนกฎ กติกา การแข่งขัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นกันก็คือ “แฮนด์บอล” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่จะถูกตัดสินว่าแฮนด์บอลนั้นมันคือจุดไหนกันแน่ เพราะบางครั้ง โดนหัวไหล่ก็โดนจับแฮนด์บอล โดนแขนท่อนบนกลับไม่แฮนด์บอล ไม่นับว่าเจตนาหรือไม่

ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ ความผิดพลาดส่วนบุคคล หรือตามภาษาอังกฤษเรียกว่า Human-Error นั้นก็มีบางคนที่ยังนิยมชมชอบ เพราะถือว่าเป็น “เสน่ห์” ของฟุตบอล พาลให้ไม่ชอบใจนักกับการที่ต้องมาใช้ VAR

บางครั้งก็ทำให้เกมสะดุด บางครั้งถึงแม้จะดูแล้ว ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนคำตัดสินที่เห็นว่า “ผิดพลาด” แต่อย่างใด ก็ยังมีความกังขาอยู่ดี

มันก็สุดแล้วแต่ความคิดเห็นส่วนบุคคล และ VAR ก็ถูกบรรจุให้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ทั้งในระดับนานาชาติ และในระดับการแข่งขันภายในประเทศ

เชื่อเถอะครับ ถ้าเราใช้เครื่องมือเหล่านี้ และใช้ความเป็นธรรมควบคู่กันไปด้วย ความผิดพลาดที่เห็นเด่นชัดนั้น ก็จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ผลการแข่งขันก็จะออกมาอย่างเป็นธรรม

#ฮิมสนาม #ฮิมสนามตั้งวงเล่า #อีซูซุศาลาเชียงใหม่ #ChiangmaiFreshmilk #zetajersey  #ดาวเรืองตราบ้าน #ทรายป่าห้า #ไทยลีก #ไทยลีก2 #ไทยลีก3 #thaileague  #ฟุตบอล #ข่าวฟุตบอล #ภาคเหนือ #ข่าวบอล #ข่าวบอลไทย #ข่าวฟุตบอลไทย  #ป้อก๊าแข้ง #ไทยลีก1 #บอลไทย #football #มังกรฟ้าลีก #Bluedragonleague  #North  #m150championship  #thaileague2 #RevoThaiLeague

Warut